เดินเที่ยวตามรอยอดีตที่ยังคงขับขาน ณ ย่านนางเลิ้ง

เมื่อสี่ปีก่อน ตอนที่ยังเป็นนิสิต ฉันเคยคิดโปรเจ็กต์ท่องเที่ยวขึ้นมาเล่นๆ ว่า อยากออกไปสำรวจย่านนู้นย่านนี้ในกรุงเทพฯ โดยมีเป้าหมายว่าอยากลองทำอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง เน้นชมสถาปัตยกรรม เดินพิพิธภัณฑ์ ชิมอาหารร้านเก่าแก่ที่ซุกซ่อนอยู่ ฉันเริ่มไปสำรวจสถานที่แรกคือ ‘สีลม’ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากมหาวิทยาลัยเท่าไหร่ วันนั้นทั้งเหนื่อย ทั้งร้อน เดินจนขาลาก แต่ก็นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีทีเดียว จนชักติดใจและอยากเที่ยวแบบนี้อีก 

วางแผนไว้ว่าครั้งต่อไปอยากไปเยือน ‘นางเลิ้ง’ เพราะได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างมาว่าตลาดนางเลิ้งเป็นตลาดบกแห่งแรกของประเทศไทยที่มีอายุกว่าร้อยปี มีร้านอาหารเก่าแก่แสนอร่อยทั้งคาวหวานตั้งอยู่เพียบ ส่วนใหญ่เป็นสูตรที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน บางเมนูจัดว่าหากินยากทีเดียว ฉันจึงปักหมุดไว้ว่าต้องไม่พลาด! 



แต่หลังจากนั้น ฉันก็เรียนจบและย้ายออกจากหอกลับมาอยู่บ้านย่านดอนเมือง ห่างไกลความเจริญพอสมควร ทั้งยังทำงานฟรีแลนซ์อยู่กับบ้าน เลยไม่ค่อยได้ออกไปไหนสักเท่าไหร่ รู้ตัวอีกทีกว่าจะได้มานางเลิ้งอย่างที่ตั้งใจไว้ เวลาก็ผ่านไปถึงสี่ปี...นานไปป่ะ ต้องขอบคุณ Trawell Thailand ไว้ ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ที่จัดทริปสนุกดีมีสาระแบบนี้ให้เราได้ไปกิน เที่ยว และเรียนรู้วิถีชุมชมอย่างเพลิดเพลิน 

การเที่ยววันนี้เราซื้อ One Day Trip ‘เปิดบ้านย่านนางเลิ้ง’ ราคา 650 บาท (ค่าวิทยากรและการทำเวิร์กชอป) จาก Trawell Thailand ค่ะ เป็นทริปทดลองครั้งแรกของทีมงาน บางคนอาจจะสงสัยว่า เอ๊ะ! เป็นคนกรุงเทพฯ อยู่กรุงเทพฯ มาตั้งแต่เกิดยันโต จะเที่ยวกรุงเทพฯ ต้องจ่ายเงินซื้อทริปด้วยเหรอ? เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังนะคะว่ามันพิเศษยังไง ทีแรกก็แอบหวั่นนิดๆ เหมือนกันค่ะ กลัวเสียเงินโดยใช่เหตุ แต่พอจบทริปปุ๊บก็รู้สึกประทับใจและคุ้มจริงๆ ที่ได้มา จึงขอนำเรื่องราวมาบอกเล่าต่อ เผื่อใครสนใจอยากเที่ยวกรุงเทพฯ แนวนี้บ้าง



จุดนัดพบของพวกเราราว 40 กว่าคน  อยู่ที่วัดสุนทรธรรมทาน หรือ วัดแคนางเลิ้ง เป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ที่นี่เคยเป็นสถานที่สวดอภิธรรมศพ มิตร ชัยบัญชา พระเอกระดับตำนานของเมืองไทย ที่เสียชีวิตจากอุบัติเหตุตกเฮลิคอปเตอร์ขณะถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง อินทรีทอง ศพของมิตรตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดแคนางเลิ้งอยู่ 100 วัน ก่อนจะย้ายไปทำพิธีพระราชทานเพลิงศพที่วัดเทพศิรินทร์ ท่ามกลางฝูงชนที่มาร่วมแสดงความเสียใจกว่าสามแสนคน ปัจจุบันอัฐิของมิตรก็ยังเก็บรักษาไว้ที่วัดแห่งนี้ค่ะ เพราะหลังจากย้ายจากเพชรบุรีมาอยู่กรุงเทพฯ บ้านของมิตรก็อยู่เยื้องๆ กับวัดแคนางเลิ้งนี่เอง วิทยากรของเราเล่าว่า มีคุณย่าคุณยายบางท่านยังจำได้อยู่เลยว่า สมัยสาวๆ พวกท่านเคยมาอ่อยมิตรแถวๆ หน้าบ้านด้วย!

หลังจากฟังเกร็ดความรู้สนุกๆ และเข้าไปกราบพระประธานในโบสถ์เรียบร้อยแล้ว จุดหมายต่อไปของชาวเราก็คือ ‘บ้านศิลปิน’ และ ‘บ้านเต้นรำ’ ที่อยู่ในตรอกเดียวกัน แต่เนื่องจากสถานที่ค่อนข้างจำกัด สมาชิกจึงถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มเพื่อผลัดกันชมแต่ละสถานที่ 




กลุ่มตะลุยกินถิ่นนางเลิ้งของเราได้ไปบ้านเต้นรำก่อนค่ะ ในยุคฟื้นฟูหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่นี่เป็นโรงเรียนสอนลีลาสแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียง บรรดาหนุ่มสาวที่ต้องออกงานสังคม งานราตรีสโมสร จะพากันมาฝึกหัดเต้นรำที่บ้านไม้แห่งนี้ ปัจจุบันแม้จะทรุดโทรมไปบ้างตามกาลเวลา แต่กลิ่นอายความสนุกสนานของบ้านเต้นรำก็ยังคงอยู่ เพราะทายาทที่ไปรำ่เรียนด้านศิลปะ ได้นำความรู้กลับมาดัดแปลงให้ที่นี่กลายเป็นพิพิธภัณฑ์เก๋ ที่พาเราย้อนอดีตกลับสู่ยุคโก๋หลังวัง และซุกซ่อนรายละเอียดชวนมองไว้ทั่วบ้าน 

แต่เสียดายที่มีเวลาไม่มากนัก ยังไม่ทันได้หัดเต้นรำ เราก็ต้องสลับไปเยือนบ้านศิลปินต่อ บ้านไม้เก่าๆ ในตรอกแคบอบอวลไปด้วยกลิ่นหอมฟุ้งจรุงใจของควันเทียนที่เจ้าของบ้านจุดไว้ต้อนรับชาวคณะ 




ฉันเลือกที่นั่งมุมในสุดของบ้านใกล้กับกระจาดสองใบ ใบหนึ่งเต็มไปด้วยดอกไม้ไทยๆ อย่างดอกเข็มและดอกบานไม่รู้โรย ส่วนอีกกระจาดมีขวดแก้วบรรจุน้ำหอมกลิ่นดอกไม้ไทยอยู่หลายใบ บ้านหลังเล็กบรรยากาศชวนให้นึกถึงวันวานที่ผ่านพ้นแห่งนี้ เปิดเป็นสถานที่สอนละครชาตรีแบบดั้งเดิมให้กับเด็กๆ ในชุมชน รวมถึงนักเดินทางที่สนใจทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ



พี่แดง หัวเรือใหญ่ของการพัฒนาศิลปะในชุมชนนางเลิ้งเล่าว่า เคยมีศิลปินระดับโลกมาเรียนละครชาตรีที่นี่ด้วย นอกจากสอนละครชาตรีแล้ว ยังมีเวิร์กชอปสอนทำขนมเรไร ทำแป้งพวง ฯลฯ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเรียนรู้และซึมซับคุณค่าของภูมิปัญญาไทยดั้งเดิม ที่นับวันจะยิ่งหาคนสืบทอดได้ยาก ซึ่งในวันนี้พี่แดงก็ได้เตรียมแป้งหินเนื้อข้นหอมกรุ่นใส่ถุงพลาสติกเล็กๆ ตัดปลายด้านหนึ่ง ไว้ให้พวกเราได้ทดลองทำแป้งพวงกันด้วย ในอดีตจะนิยมนำแป้งพวงมาจัดเป็นช่อทำเป็นมาลัยไว้บูชาพระ มอบเป็นของขวัญ หรือหยอดเป็นเส้นยาวหลายๆ เส้นเอาไว้ตกแต่งบ้านก็ได้ค่ะ 

ผ่านไปสามสถานที่ในย่านนางเลิ้ง ถึงตอนนี้กระเพาะของทีมตะลุยกินถิ่นนางเลิ้งชักเริ่มเรียกร้องหาอาหารกันแล้ว แต่เรายังต้องไปอีกสองที่ก่อน โปรแกรมอัดแน่นมากเพราะเป็นทริปทดลองค่ะ ซึ่งประเด็นนี้หลายคนให้ความเห็นไปแล้วว่าอาจจะลดกิจกรรมลงหน่อย เพื่อเพิ่มเวลาอยู่กับแต่ละสถานที่ให้นานยิ่งขึ้น 



จากตรอกเล็กๆ เมื่อสักครู่ ขยับตัวไม่กี่เมตร เราก็มาถึง ‘บ้านนราศิลป์’ คณะละครเก่าแก่ซึ่งก่อตั้งมาตั้งแต่สมัยต้นรัชกาลที่ 6 ความพิเศษคือนอกจากจะรับงานแสดงโขน ละครชาตรี และดนตรีไทยมากว่าร้อยปีแล้ว ที่นี่ยังเป็น ‘บ้านเครื่อง’ ผลิตเครื่องแต่งกายโขน ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ 



ในวันที่เราไปเยี่ยมเยือนพี่บุษบา ทายาทรุ่นที่ 3 ของคณะนราศิลป์ กำลังนั่งปักชุดด้วยลายกนกยกดิ้นที่เป็นเอกลักษณ์โดดเด่น พี่บุษบาเล่าว่า กว่าจะปักเสร็จหนึ่งชุดต้องใช้เวลาเป็นเดือน และช่างที่ปักชุดโขนสายตาจะเสียไวมาก เพราะด้ายเป็นสีเงินแวววาวสะท้อนแสงเข้าตาอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งความนิยมในการแสดงโขนก็ลดลงไปตามกาลเวลา จึงไม่ค่อยมีคนรุ่นหลังที่อยากมาสืบทอดอาชีพนี้เท่าไรนัก ซึ่งถ้าวันหนึ่งศิลปะเหล่านี้ต้องสูญหายไป ก็นับว่าน่าเสียดายไม่น้อยทีเดียว



จุดหมายสุดท้ายของเราในช่วงเช้าก่อนพักเบรกกินข้าวคือ ‘ตรอกละคร’ ชุมชนละครชาวบ้านใจกลางกรุงรัตนโกสินทร์ที่ยังคงรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ครูหมู ทายาทผู้สืบทอดคณะละครจงกล โปร่งน้ำใจ จะเปิดห้องสอนละครชาตรีให้กับเด็กในละแวกชุมชน ด้วยความหวังอยากให้คนรุ่นใหม่ช่วยสืบสานละครชาวบ้านที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศไทยให้คงอยู่สืบไป ซึ่งในช่วงบ่ายก่อนแยกย้ายเดี๋ยวเราจะได้ชมการแสดงๆ ของน้องๆ รุ่นจิ๋วกันค่ะ แต่ตอนนี้เขาพามาชิมลางเป็นออเดิร์ฟก่อน 



เอาล่ะ...ในที่สุดก็ถึงเวลาที่รอคอยสักที นั่นก็คือชั่วโมงพักกินข้าว แต่เขียนเรื่องอาหารการกินทีไร ติดลมจนยาวเฟื้อยทุกที ขอแยกไปเขียนเฉพาะเรื่องตลาดนางเลิ้ง ซึ่งอุดมสมบูรณ์ไปด้วยของคาวหวานรสเด็ดมากมายในอีกบทความหนึ่งนะคะ 



กลับมาเข้าเรื่องเที่ยวกันต่อ หลังจากพักกินข้าวแล้ว ทางทีมงานก็พาพวกเราไปเยี่ยมชมพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่ง ซึ่งในอนาคตกำลังพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะประโยชน์ของชุมชน 



และพาไปเรียนรู้โครงการตลาดสีเขียว ด้วยการฟังบรรยายเรื่องน้ำหมักชีวภาพ ก่อนจะปิดท้ายด้วยการชมละครชาตรีจากน้องๆ ที่มาเรียนการแสดงกับครูหมู อย่างที่ได้เกริ่นไปแล้วค่ะ คณะละครจงกล โปร่งน้ำใจ เปิดการแสดงด้วยการสาธิตโหมโรง ซึ่งสมัยก่อนจะใช้เพื่อป่าวประกาศให้ชาวบ้านรู้ว่าการแสดงกำลังจะเริ่มแล้ว จากนั้นจึงร้องประกาศครู รำซัดไหว้ครู และเริ่มเปิดการแสดงสองท้องเรื่องด้วยกันคือ แก้วหน้าม้าและไกรทองฉบับย่อตัดทอนมาอย่างละหนึ่งฉาก 





การแสดงจัดขึ้นบริเวณลานปูนหน้าโรงหนังศาลาเฉลิมธานี ซึ่งเมื่อ 40-50 ปีก่อน ละแวกนี้จัดว่าเป็นสถานที่แฮงก์เอาท์ที่อู้ฟู่มากของคนพระนคร เต็มไปด้วยแหล่งบันเทิงเริงรมย์ ทั้งซ่องโสเภณีในตรอกสะพานยาว โรงฝิ่น โรงหนัง ตลาดบก ร้านรวงมากมาย เรียกว่าหนุ่มสาวอินเทรนด์ในยุคนั้น ต่างต้องเคยควงกันมาเที่ยวนางเลิ้ง 



โรงหนังศาลาเฉลิมธานี ขณะนี้อายุ 97 ปี กำลังปิดเพื่อรอการบูรณะซ่อมแซมจากกรมศิลปากร คาดว่าถ้าเสร็จเรียบร้อยเมื่อไหร่ น่าจะกลายเป็นแหล่งศึกษาประวัติศาสตร์ของกรุงเทพฯ ที่น่าสนใจมากๆ อีกแห่งหนึ่งเลย เราก็ได้แต่เฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ เปิดให้เข้าชมเมื่อไหร่จะกลับไปบุกนางเลิ้งอีกครั้งแน่นอนค่ะ

ความคิดเห็น


  1. Normally I don't read article on blogs, however I wish to say that this write-up very pressured me to check out and do it! Your writing taste has been amazed me. Thanks, quite nice article. gmail sign in

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

รูปภาพของฉัน
pOndjaa
ชื่อ ปอนด์ เกิดและเติบโตที่ชานเมืองกรุงเทพฯ หลงใหลการอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สนใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอิสระและรับสัมภาษณ์บุคคล สนุกกับการดูซีรี่ย์และทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ เมื่อมีเวลาว่าง ติดต่อ Line id : pond_jaa