แบกเป้บุกเดี่ยวอินโด ตอนที่ 14 : ชิลล์ๆ ชิคๆ ที่บาหลี เดินเท้าซอกแซกในอูบุด

เมืองอูบุดเป็นศูนย์กลางศิลปวัฒนธรรมของเกาะบาหลี ที่นี่มีวัดเยอะมาก แทบทุกตรอกซอกซอยต้องมีวัดแฝงตัวอยู่ แต่วัดที่ชาวบ้านยังคงทำพิธีกรรมทางศาสนาที่นั่นจริงๆ ส่วนใหญ่จะอยู่ออกไปนอกตัวเมืองหน่อย ส่วนวัดที่อยู่ใจกลางแหล่งท่องเที่ยว มักถูกดัดแปลงเป็นสถานที่แสดงโชว์ในยามค่ำคืนเสียมากกว่า และเมื่อมาถึงอูบุดแล้วก็ควรจะดูโชว์เป็นบุญตาสักหน่อย ฉันซื้อตั๋วการแสดงระบำเคจัก (Women Kecak & Fire Dance) ในท้องเรื่องรามายนะ ราคา 80,000 Rp. (208 บาท) รอบทุ่มครึ่งเอาไว้ และเดินเมียงมองตามหาร้านเช่าจักรยาน 



แต่ยังไม่ทันเจอ ก็มาโผล่หน้าป่าลิง (The Sacred Monkey Forest Sanctuary) ซะก่อน เลยลองซื้อตั๋ว 30,000 Rp. (78 บาท) เข้าไปดู ป่าลิงตั้งอยู่บนถนนมังกี้ฟอเรสต์ (Jl.Monkey Forest) เส้นเดียวกับที่ไปนั่งดูดชิชาเมื่อคืน แต่ไกลออกไปอีกนิด ห่างจากที่พักประมาณหนึ่งกิโลเมตร 



เข้าไปถึงปุ๊บ...โดนลิงขโมยเสื้อกันฝนที่เหน็บไว้ด้านข้างกระเป๋าเป้ก่อนเลยจ้า เดินๆ ไปสักพักเจอลิงสองแก๊งทะเลาะกันอีก ปะทะกันจริงจังมาก เป็นร้อยๆ ตัวอ่ะ คือไม่ใช่แค่แย่งกล้วยแล้ว ปัญหาดูรุนแรงกว่านั้น นี่พวกเอ็งเคียดแค้นกันมาแต่ชาติปางไหนหรือเปล่า พวกหล่อนช่วยทำตัวต้อนรับนักท่องเที่ยวหน่อยได้ไหมจ๊ะ 

ฉันเดินไปก็ระแวงไปทั้งกลัวลิงกัด กลัวโดนขโมยของ มีจังหวะหนึ่งถูกคุกคามโดยลิงผีบ้าปีนมาเกาะหลังแล้วพยายามแย่งของในกระเป๋า เจ้าหน้าที่ตะโกนมาว่า "ไม่เป็นไร อย่ากลัวๆ เดินไปเลย" โถ...ให้หนูกลัวเถอะ ลิงเกาะหลังซะขนาดนี้แล้ว จะสะบัดแรงก็ไม่กล้ากลัวมันกัด ฉันปั้นหน้าน่าสงสารสุดชีวิต ส่งสายตาแสนรันทดค่อยๆ เดินย่องไปหาคุณเจ้าหน้าที่ “พี่ช่วยทำอะไรสักอย่างได้ไหมคะ ให้มันออกไปจากหลังสักที” พี่เขาหันไปสบตาลิง โบกมือ 2-3 ที ลิงก็ไปละ ...เออง่ายดี ทำไมไม่ไล่ให้หนูตั้งแต่แรกคะคุณพี่



ที่นี่มีลิงอยู่ประมาณ 600 ตัว แบ่งออกเป็นห้าก๊ก คือ The Main Temple, Michelin, Eastern, Central และ Cemetery ในอาณาบริเวณของป่าลิงมีวัดศักดิ์สิทธิ์อยู่สามแห่ง ซึ่งชาวบ้านเชื่อกันว่าลิงคือผู้ดูแลปกป้องวัดเหล่านี้ เขาจึงเลี้ยงลิงกันแบบสปอยล์มาก ห้ามทำร้ายลิง ห้ามดุลิง ถ้าลิงแกล้งหรือขโมยของเราก็ต้องอดทน ไม่สามารถมีปากมีเสียงใดๆ ได้ทั้งสิ้น เพราะเขาติดป้ายเตือนไว้แล้วว่า "ที่นี่ลิงใหญ่นะเว้ย!" นักท่องเที่ยวอย่างพวกเอ็งจงดูแลตัวเองและทรัพย์สินให้ดีๆ นะจ๊ะ

หลังจากหลุดพ้นออกมาจากป่าลิงได้ ฉันก็เดินกลับไปหาข้าวกินแถวๆ ที่พัก เพื่อจะได้กลับไปใช้ไวไฟในโฮสเทลหาที่เที่ยวต่อ ฉันมองหาร้านแบบมั่วๆ 



จนมาสะดุดตากับ Warung Komang เป็นร้านเล็กๆ ทากำแพงด้านนอกด้วยสีม่วงอ่อน มีแค่ 3-4 โต๊ะ แม่เป็นคนทำอาหาร ลูกสาวรับแขกอยู่หน้าร้าน อัธยาศัยดีทั้งคู่ ขายอาหารโคตรนานาชาติ ทั้งอินโดนีเซีย ยุโรป จีน ญี่ปุ่น ไทย และมีตู้กระจกเล็กๆ ทำอาหารสำเร็จรูปไว้ 6 อย่าง เท่าที่สังเกตดูส่วนใหญ่คนพื้นที่จะสั่งข้าวห่อกิน แต่นักท่องเที่ยวจะสั่งเป็นอาหารตามสั่งมากกว่า ร้านนี้ถือว่าราคาและรสชาติอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นมาก แต่ฉันกลับมาซ้ำสองรอบ เพราะร้านโล่งๆ สะอาดดี และที่สำคัญคืออยู่ใกล้โฮสเทล วันไหนอยากจะนั่งดูแผนที่นานๆ หน่อยเพื่อวางแผนทริปฉันก็จะมานั่งที่นี่ 



รอบแรกฉันสั่งข้าวผัด หรือ นาซิโกเร็ง (Nasi Goreng) อาหารสุดแมสของคนอินโดนีเซีย จานนี้ 25,000 Rp. 65 บาท) พิเศษหน่อยตรงที่มีสะเต๊ะ (Satay) เคียงมาด้วยสองไม้ 



ครั้งแรกชิมสะเต๊ะแล้วติดใจ รอบต่อมาเลยสั่งแต่สะเต๊ะเน้นๆ เลือกแบบรวม 30,000 Rp. (78 บาท) ไม่รู้เขาจัดอะไรมาให้กินบ้าง รู้สึกรสชาติมันคล้ายกันไปหมด สะเต๊ะเป็นอีกหนึ่งอาหารยอดนิยมของอินโดนีเซียที่เจอได้ทั้งตามร้านข้างทางและร้านหรู มักจะเสิร์ฟกับซอสถั่วรสชาติหวานนำ ราดมาแบบตู้มๆ ชนิดที่ว่ากินซอสหมดนี่ก็ไม่ได้รสชาติสะเต๊ะแล้วล่ะ แนะนำให้เขี่ยซอสออกก่อนกินจะดีกว่า ร้านนี้มีให้เลือกทั้งสะเต๊ะไก่ สะเต๊ะเนื้อ สะเต๊ะแกะ สะเต๊ะหมู และสะเต๊ะเต้าหู้ แต่ของร้านนี้รสชาติคล้ายๆ กันหมดทุกไม้ แยกไม่ค่อยออกเท่าไหร่ว่าอันไหนเป็นเนื้ออะไร

ช่วงบ่ายฉันซื้อแผนที่จากศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และเดินถ่ายรูปเล่นแถวพระราชวังอูบุด (Ubud Palace) แล้วก็ซอกแซกเข้าซอยนั้นซอยนี้แบบมั่วๆ ฆ่าเวลาไปเรื่อย 

บางส่วนของพระราชวังอูบุด
Pura Taman Saraswati
ทำให้พบว่าจริงๆ ความสนุกของการเที่ยวอูบุดคือสิ่งนี้แหละ เพราะแต่ละซอยมีอะไรซุกซ่อนอยู่เต็มไปหมด ร้านอาหารสำหรับคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวตกยากก็มักจะซ่อนอยู่ตามซอยเหล่านี้ เพราะร้านตามถนนเส้นหลักส่วนใหญ่จะเป็นร้านเก๋ๆ จานละเป็นร้อยขึ้นไป แถมชาร์จค่าเซอร์วิซและ VAT อีกประมาณ 10-15% 

ฉันเดินสำรวจจนเริ่มเหนื่อย รู้สึกอยากนั่งพักสักหน่อย เจอร้านบ้านๆ ขายอาหารท้องถิ่นทั่วไป มีเมนู Es Buah ด้วย Es คือ น้ำแข็ง Buah คือ ผลไม้ โอ้...นี่ต้องเป็นฟรุตสลัดหวานฉ่ำชื่นใจแน่เลย ราคาก็ไม่แพงแค่ 10,000 Rp. (26 บาท) ลองสั่งไปแบบมั่วๆ เพราะเจ้าของร้านเขาพูดภาษาอังกฤษไม่ค่อยได้ แต่เหมือนเขาจะถามว่าเราเอาผลไม้อะไร ก็ตอบไปว่า “Mango” กะว่าคงได้กินมะม่วงสุกเหลืองอร่ามหวานหอม



สิ่งที่ได้คือผลไม้หลากชนิดหั่นชิ้นเล็กๆ พอดีคำ ประกอบไปด้วย สับปะรด แคนตาลูป สตรอเบอร์รี่ มะละกอ มะม่วงดิบเปรี้ยวปรี๊ด เน้นว่าดิบ! และมะเขือเทศท้อ!! โปะน้ำแข็งก้อน ใส่นมข้นจนหวานแสบไส้ ราดด้วยซอสช็อกโกแลตอีกหนึ่งตลบ เป็นเมนูที่ต้องกินด้วยความปล่อยวางขั้นสุดจริงๆ หนึ่งคำตักได้อะไรมาก็ปล่อยให้รสชาติเหล่านั้นผสมผสานคลุกเคล้าอยู่บนลิ้น 

ว้าว...คำนี้เป็นมะละกอคู่มะเขือเทศ กูอยากคายมากค่ะแต่เจ้าของร้านมองอยู่ ประเมินจากวัตถุดิบโดยรวมแล้วคาดว่าพลังทะลวงลำไส้ใกล้เคียงกับแหนมป้าใหญ่ เมนูเร่งขับถ่ายยอดฮิตของชาวนิเทศ จุฬาฯ แน่นอน ตอนนั้นท้องผูกอยู่พอดีเลยซัดจนเกลี้ยง ตื่นเช้ามาอีกวันประทับใจมากค่ะ ของเสียในลำไส้วิ่งกันปรู๊ดปร๊าด

ระหว่างกินฉันก็หาที่เที่ยวต่อไปด้วย ในแผนที่มีสถานที่หนึ่งน่าสนใจและอยู่ใกล้พระราชวังอูบุดมาก นั่นคือพิพิธภัณฑ์ปูริ ลูกิซาน (Museum Puri Lukisan) พิพิธภัณฑ์ศิลปะเก่าแก่ที่สุดในอูบุด เปิดตั้งแต่ 9.00-17.00 น. ฉันก้มมองนาฬิกา ตอนนี้เกือบสี่โมงเย็น โอเคยังพอมีเวลา แต่ที่ขายตั๋วปิดไปแล้วและดูเหมือนป้าพนักงานกำลังจะกลับบ้าน ป้าเดินกลับมาไขกุญแจลิ้นชักและขายตั๋วให้ฉันแบบไม่ค่อยเต็มใจเท่าไหร่ ตั๋วราคาโหดพอสมควร 85,000 Rp. (221 บาท) แต่ยังดีที่หางตั๋วเอาไปแลกน้ำที่คาเฟ่ของพิพิธภัณฑ์ได้หนึ่งแก้ว 



ฉันถามพนักงานที่คาเฟ่ว่า “ขอไปเดินดูข้างในก่อน เดี๋ยวมาแลกน้ำตอนจะกลับได้มั้ยคะ?”
“ไม่ได้ค่ะเราจะปิดแล้ว” สาวเสิร์ฟตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงสุภาพ

ก้มมองนาฬิกาข้อมืออีกรอบ เอ๊ะ! เพิ่งสี่โมงเย็นไม่ใช่เหรอวะ จะรีบปิดกันไปไหน...? ฟาคคคคค เพิ่งนึกขึ้นได้ เวลาที่บาหลีเร็วกว่าไทยหนึ่งชั่วโมงค่า ยังไม่ได้ปรับนาฬิกาไง คิดว่าชิลล์ๆ แค่บวกไปหนึ่งชั่วโมงไม่ยากอะไร ลืมคิดไปว่าตัวเองเป็นคนไร้สติขั้นสุด แล้วป้าขายตั๋วไม่คิดจะบอกกันบ้างเลยเหรอว่าจะปิดแล้ว ขายตั๋วให้ตูทำม้ายยยยย 




ฉันเดินเข้าไปรัวชัตเตอร์ถ่ายรูปแชะๆๆๆ จบในเวลาห้านาที ยามเดินมาไล่ ไป๊ๆ ได้แล้วอีหนู จะปิดประตูแล้ว ...บายค่ะ พิพิธภัณฑ์แห่งแรกของอูบุด ฉันมันไม่คู่ควร มีบุญได้เห็นแค่นี้แหละ

สิ้นสุดความชอกช้ำ ฉันก็ไปหาข้าวเย็นกิน และเดินไปวัดบาตูคารู (Pura Batukaru Ubud) สถานที่แสดงระบำเคจัก ซึ่งต้องเข้าซอยไปตามถนนสุเวตา (Jl.Suweta) ลึกพอสมควร เคจักโชว์ที่ไม่มีเครื่องดนตรี แต่ใช้ผู้หญิงประมาณ 50 คน ฮัมเสียงเคจัก เคจัก (แต่ฉันฟังแล้วได้ยินว่า จ๊ะจ๊ะจ๊ะจึ่ง ตลอดเลย) แทนดนตรีประกอบและมีการร้องเพลงคลอๆ ดูแล้วก็เพลินๆ ดี 



มูฟเมนต์เขาจะคึกคักยึกยักและถลึงตาโตมาก เนื้อเรื่องในการแสดงจะเริ่มเล่าตั้งแต่กำเนิดพระราม (Rama) แล้วก็ตัดตอนมาที่นางสีดา (Sita) ถูกลักพาตัว หนุมานมาเสริมทัพ ฝ่ายพระรามสู้กับยักษ์ ปิดท้ายด้วยโชว์ม้า ที่เขาเอากาบมะพร้าวมาสุม ราดน้ำมัน จุดไฟ แล้วม้าก็ลุยไฟค่ะ ทั้งควัน ทั้งขี้เถ้าเข้าหน้าเต็มๆ ปิดกระเป๋ากล้องหนีแทบไม่ทัน



ระบำเคจักมีอีกชื่อหนึ่งว่าระบำลิง เสียง "เคจัก เคจัก" ที่เป็นจุดเด่นของโชว์ ก็คือเสียงของกองทัพวานรที่พระรามนำทัพมาช่วยนางสีดานั่นเอง เลยได้ความรู้ใหม่ว่าลิงเมืองไทยร้องเจี๊ยกๆ แต่ลิงบาหลีร้องเคจักๆ นะ ระบำชนิดนี้ถือกำเนิดมาจากพิธีกรรมรำทรงเจ้าเข้าผี เริ่มแสดงกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1930 ช่วงแรกนักแสดงที่เล่นเป็นลิงร้องเคจัก เคจัก จะใช้แต่นักแสดงผู้ชายเท่านั้น เพิ่งจะมีการใช้ผู้หญิงแสดงครั้งแรกในปี ค.ศ. 2006 

หลังจากดูโชว์เสร็จฉันก็เดินเกือบๆ สามกิโลเมตรเพื่อกลับโฮลเทล ล้างหน้า แปรงฟัน หัวถึงหมอนปุ๊บหลับทันทีด้วยความเพลีย ไม่มีการอาบน้ำใดๆ เกิดขึ้นทั้งสิ้น แหม ก็อากาศมันดีเหงื่อไม่ค่อยออกเท่าไหร่



ช่วงนี้ชี้แนะ

  • เวลาที่บาหลีเร็วกว่าไทยหนึ่งชั่วโมง...นะจ๊ะ
  • แต่ละคืนจะมีการแสดงพื้นเมืองหมุนเวียนกันไปหลายประเภท ทั้งเคจัก บารอง เลกอง ฯลฯ จะมีเจ้าหน้าที่มาตั้งโต๊ะขายตั๋วอยู่ตามหน้าวัดและแถวๆ พระราชวังอูบุดซึ่งเป็นศูนย์กลางของเมือง ถ้าอยากรู้ว่าคืนนี้ในอูบุดจะมีการแสดงอะไร แสดงที่ไหนบ้าง สามารถไปขอข้อมูลได้ที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยว ตั้งอยู่บนถนนราชาอูบุด (Jl.Raya Ubud) โชว์ส่วนใหญ่จะเริ่มราวๆ 19.00-19.30 น. ควรไปก่อนเวลาสัก 30 นาที เพื่อจับจองที่นั่งทำเลดี
  • ร้าน Warung Komang อยู่บนถนน Jl. Gautama selatan ด้านที่เชื่อมกับ Jl. Hanoman เดินเข้าไปในซอยสิบก้าวก็มองไปทางซ้าย ก็จะเจอร้านเป็นห้องแถวทาสีม่วงอ่อน ป้ายเมนูใหญ่ๆ สีเหลือง อยู่ติดกับร้าน nanan ร้านขายกระเป๋าหนังและเครื่องประดับเงินที่เน้นเจาะกลุ่มลูกค้าญี่ปุ่น ในซอยนี้มีร้านอาหารไทยเล็กๆ ชื่อ Warung Siam เจ้าของร้านเป็นคนไทย ค่อนข้างดังในหมู่ฝรั่งที่ชื่นชอบอาหารไทย ฝรั่งหลายคนบอกว่า “ผัดไทร้านนี้อร่อยที่สุดตั้งแต่เคยกินมาและจัดจานเริ่ดกว่าที่เคยกินในประเทศไทยด้วย”
  • พิกัดร้านขาย Es Buahถ้าจำไม่ผิดน่าจะอยู่ในซอย Jl.Sri Wedari ถนนย่อยที่แยกมาจากถนนราชา (Jl.Raja Ubud) ไม่ไกลจากแหล่งท่องเที่ยวหลักอย่างพระราชวังอูบุดเท่าไหร่ แต่จะไปกินจริงๆ เหรอ?
  • ถ้ามีโอกาสได้สำรวจจนทั่ว พิพิธภัณฑ์ปูริ ลูกิซาน (Museum Puri Lukisan) น่าจะเป็นอีกสถานที่หนึ่งที่ฉันประทับใจไม่น้อย เพราะด้านในกว้างขวางใหญ่โต แบ่งออกเป็นสี่อาคาร จัดแสดงงานศิลปะตั้งแต่ยุคก่อนสงครามมาจนถึงปัจจุบัน จัดว่าน่าสนใจสุดๆ สำหรับคนที่สนใจงานศิลปะและประวัติศาสตร์ www.museumpurilukisan.com

ความคิดเห็น

รูปภาพของฉัน
pOndjaa
ชื่อ ปอนด์ เกิดและเติบโตที่ชานเมืองกรุงเทพฯ หลงใหลการอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สนใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอิสระและรับสัมภาษณ์บุคคล สนุกกับการดูซีรี่ย์และทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ เมื่อมีเวลาว่าง ติดต่อ Line id : pond_jaa