แบกเป้บุกเดี่ยวอินโด ตอนที่ 12 : ชิลล์ๆ ชิคๆ ที่บาหลี ลุยเดนปาซาร์ เมืองหลวงของเกาะ

ปกติแล้วนักท่องเที่ยวทั่วไปจะไม่ค่อยแวะค้างที่เดนปาซาร์กันเท่าไหร่ เพราะถึงแม้จะได้ชื่อว่าอยู่บนเกาะบาหลีและเป็นถึงเมืองหลวง แต่แทบไม่มีอะไรให้เที่ยวเลย เหมือนเป็นเขตเมืองที่คนท้องถิ่นใช้ชีวิตกัน อารมณ์ประมาณจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และที่พักราคาถูกก็หายากกว่าที่คิด ตอนวางแผนทริปฉันเล็งโฮสเทลชื่อ Pulau Bali เอาไว้ พอไปถึงปรากฏว่าเต็ม เลยลองเดินลัดเลาะหาที่ใหม่ ตั้งงบไว้ 100,000 Rp. (260 บาท) แต่มันก็เต็มหมดเลย จนสุดท้ายตัดใจกำลังจะจองโรงแรมชื่อซากุระ (Sakura) ที่บังเอิญเจอตอนเดินผ่าน ราคาเกินงบมาพอสมควรคือ 250,000 Rp. (650 บาท) แต่ ณ จุดนี้ก็ยอมแล้วล่ะ พอเข้าไปคุยกับพนักงาน อ้าว...ไม่มีไวไฟ ซึ่งจำเป็นมากถึงมากที่สุด เพราะยังไม่รู้เลยว่าจะไปเมืองอื่นต่อยังไง จะพักที่ไหน ไปเที่ยวไหนบ้างในบาหลี

บายค่ะ เดินหาต่อ...แต่คิดไว้ในใจว่าถ้าหาไม่ได้จริงๆ ค่อยกลับมานอนซากุระ เดินอยู่สี่ชั่วโมง แบกเป้อีกสองใบ น้ำหนักรวมๆ เกือบ 20 กิโล จนฟ้าค่อยๆ มืดลงเรื่อยๆ เริ่มใจไม่ดีแล้ว กลางวันกูยังหลง กลางคืนไม่ต้องพูดถึง นึกขึ้นได้ในกระเป๋ามีไกด์บุ๊กนี่หว่า ลองเปิดดูโรงแรมที่ไกด์บุ๊กแนะนำ มีอยู่ 5-6 ที่ เงยหน้ามองป้ายชื่อถนนพบว่าโรงแรมที่ใกล้ที่สุดคือ Grand Chandra Hotel สภาพด้านนอกดูโอเค ติดถนนใหญ่ มีไวไฟ มีอาหารเช้า พนักงานท่าทางเป็นมิตร ทุกอย่างโอเค ยกเว้นห้องที่บัดซบมาก ทีแรกฉันจะจ่ายเงินเลยด้วยซ้ำ ไม่ดูห้องแล้ว เท้าระบมไปหมด แย่แค่ไหนก็จะนอน แต่พนักงานที่รีเซปชั่นบอกว่า “ดูก่อนเถอะนะ แล้วค่อยตัดสินใจ” พอดูแล้วก็ย่ำแย่จริงแหละ แต่ยอมตายอยู่ในห้องนี้ ก็อาจจะดีกว่าออกไปเดินโต๋เต๋ข้างนอกมืดๆ แล้วถูกปล้น




ห้องอื่นอาจจะไม่แย่ขนาดนี้นะ อาจเป็นเพราะฉันเลือกห้องถูกสุด 100,000 Rp. (ประมาณ 260 บาท) ส้วมแม่งคือบ่อเกรอะที่มีคราบแชมพูลอยฟ่อง เหมือนคนเก่าใช้งานไว้แล้วราดไม่ลง ตอนเช้าเราตื่นมาขี้ กว่าจะราดส้วมได้ใช้น้ำไปสามถัง เห็นสภาพห้องแล้วอยากถามว่า “นี่ทำความสะอาดครั้งสุดท้ายตอนสมัยพระเจ้าเหาหรือเปล่าคะ?” แล้วคนเขียนไกด์บุ๊กเคยพักที่นี่จริงๆ ใช่มั้ย ถึงได้เอาไปเขียนแนะนำเนี่ย

คืนนั้นฉันนั่งใช้ไวไฟหาข้อมูลและได้ข้อสรุปว่า พรุ่งนี้เช้าจะรีบตื่นและออกไปเดินสำรวจเดนปาซาร์ จากนั้นก็ย้ายไปเมืองอูบุด คราวนี้เราจะไม่พลาดอีก จองที่พักไว้ก่อนเลยค่ะเพื่อความปลอดภัย เพราะเดือนกรกฎาคมกำลังเป็นไฮซีซั่นของบาหลีแล้ว 

เช้าวันรุ่งขึ้น ฉันถือคูปองไปแลกมื้อเช้าที่ห้องอาหาร นั่งรอแป๊บเดียว พนักงานก็ยก 'นาซิ จัมปูร์' (Nasi Campur) มาเสิร์ฟ เป็นข้าวราดแกงสไตล์อินโดนีเซียที่ประกอบไปด้วยกับข้าวห้าอย่าง หน้าตาดูแห้งๆ ไม่ชวนพิศมัยสักเท่าไหร่ แต่รสชาติดีกว่าที่คิด และหน้าตาใกล้เคียงกับอาหารไทยบ้านๆ ที่เราคุ้นเคย 



จะมีที่แปลกตาหน่อยก็คือเทมเป้ (Tempe) เป็นถั่วเหลืองหมักกับเชื้อราไรโซปัส โอลิโกสปอรัส (Rhizopus oligosporus) หั่นมาเป็นแท่งๆ สีเหลือง เห็นเม็ดถั่วอัดแน่นอยู่ยุบยับ รสชาติคล้ายเต้าหู้แต่แข็งกว่า และยังมีผิวสัมผัสของเม็ดถั่วกลิ้งไปมาตามลิ้น ในไทยมีคนทำขายอยู่ที่ปัตตานี แต่ใครอยู่จังหวัดอื่นแล้วอยากชิมก็สามารถสั่งซื้อได้ทางเฟซบุ๊ก Tempe Pattani



กินข้าวเช้าเสร็จ ฉันก็มุ่งหน้าไปที่ตลาดบาดุง (Pasar Badung) ตลาดเก่าแก่ของบาหลีที่ตั้งอยู่ในอาคารสี่ชั้น โดยชั้นล่างจะขายอาหารสด อาหารแห้ง พืชผัก ผลไม้ เป็นหลัก ส่วนชั้นบนๆ จะเป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าและข้าวของเครื่องใช้ 



ด้านหน้าทางเข้าตลาดมีวัดเล็กๆ ชื่อ เมลาติงซารีบัวนา (Pura Melating Sari Buana) ตอนที่ฉันเดินผ่านมีแม่ค้าสาวคนหนึ่งกำลังทำพิธีบูชาเทพเจ้าอยู่พอดี เธอสวมเสื้อแขนยาวสีดำกับโสร่งสีม่วงแซมลวดลายศิลปะสไตล์บาหลี นั่งคุกเข่าอยู่หน้าแท่นบูชาเทพเจ้า ถือภาชนะคล้ายขันไว้ในมือและโปรยข้าวสารไปข้างหน้า ฉันลอบสังเกตอยู่พักใหญ่จนกระทั่งเธอจบพิธีกรรมด้วยการนำเมล็ดข้าวสารมาแปะไว้บนหน้าผาก และใต้ลำคอกึ่งกลางระหว่างไหปลาร้าทั้งสองข้าง หญิงสาวหันมายิ้มให้อย่างเป็นมิตรเมื่อเห็นฉันกำลังบันทึกภาพ ฉันจึงขอถ่ายภาพเดี่ยวเธอมาหนึ่งแชะ



เธอเล่าให้ฉันฟังว่า คนที่ค้าขายอยู่ในตลาดแห่งนี้ มักจะมาทำพิธีบูชาทวยเทพ เพื่อขอพรให้ทำมาค้าขึ้นกันเป็นประจำทุกวัน 



หลังจากเดินสำรวจชั้นล่างจนทั่วแล้ว ฉันก็เดินไปสำรวจชั้นอื่นๆ ต่อ ตั้งใจหาซื้อโสร่งสักผืนเอาไว้ใส่เข้าวัด เพราะคิดว่าซื้อจากที่นี่น่าจะถูกกว่าซื้อในย่านแหล่งท่องเที่ยว แต่สงสัยจะมาเช้าไปหน่อย ร้านรวงต่างๆ เพิ่งเปิดแค่ไม่กี่ร้านเลยไม่มีตัวเลือกมากนัก ฉันเข้าไปลูบๆ คลำๆ โสร่งร้านหนึ่ง จนได้โสร่งสีชมพูอ่อน หวานปานน้ำผึ้งเดือนห้ามาหนึ่งผืน แถมยังต่อราคาจาก 150,000 Rp. เหลือ 100,000  Rp. (ประมาณ 260 บาท) และได้ผ้าคาดเอวสีเข้ากันแถมมาด้วย ซื้อเสร็จสุดแสนจะดีใจว่าตัวเองได้ของถูก ปรากฏว่าสองวันต่อมา ไปเที่ยววัดกัวกาจาห์ใกล้ๆ เมืองอูบุด ด้านหน้าวัดมีร้านขายโสร่งเยอะมาก พอเราลงจากรถปุ๊บ จะมีคนถือโสร่งกรูเข้ามาหาทันที ราคาเริ่มต้นผืนละ 50,000 Rp. พอเราเดินหนีทำท่าไม่สนใจ ลดทันทีเหลือ 20,000 Rp. ...ก็ไม่อะไรมาก แค่ถูกกว่าที่ตูซื้อมาห้าเท่าเอ๊งงงง

สะพานข้ามคลองบาดุง เชื่อมระหว่างตลาดบาดุงกับตลาดคัมบาซารี (Pasar Kumbarsari)

พอซื้อโสร่งที่แพงมาก (แต่ตอนนั้นยังโง่อยู่คิดว่าตัวเองได้ของถูก) เรียบร้อย ฉันก็เดินต่อไปอีกประมาณหนึ่งกิโลเมตร เพื่อไปยังพิพิธภัณฑ์บาหลี Museum Negeri Propinsi Bali หรือจะเรียกสั้นๆ ว่า Museum Bali ก็ได้ 




ที่นี่เปิดตั้งแต่แปดโมงเช้า ค่าเข้าแค่ 20,000 Rp. (52 บาท) ด้านในแบ่งออกเป็นสี่อาคารเป็นสถาปัตกรรมสไตล์บาหลี รายล้อมด้วยสวนสวยตัดแต่งต้นไม้ใบหญ้าไว้อย่างเป็นระเบียบ อาคารแต่ละหลังไม่กว้างมาก จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้โบราณ ผลงานศิลปะต่างๆ เดินสักหนึ่งชั่วโมงก็ทั่วแล้ว ข้อควรระวังคือหลังจากเราซื้อตั๋วจากเจ้าหน้าที่เสร็จแล้ว จะมีไกด์เถื่อนมาอาสานำชม ถ้าไม่คิดจะใช้บริการให้ปฏิเสธและเดินหนีไปเลย แต่ถ้าอยากลองของควรตกลงราคาให้เรียบร้อยก่อน 




ประเทศอินโดนีเซียนับถือศาสนาอิสลามเป็นหลักและมีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลกด้วย มีคนนับถือศาสนาฮินดูแค่ประมาณ 1.6% ซึ่งส่วนใหญ่ก็อยู่บนเกาะบาหลีนี่แหละ วัฒนธรรมฮินดูของบาหลียังคงเข้มแข็งและผูกพันอยู่กับวิถีชีวิตของผู้คนมาจนถึงทุกวันนี้ และศิวลึงค์เครื่องหมายแทนองค์พระศิวะก็เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมฮินดูที่โด่งดัง ชาวฮินดูนับถือศิวลึงค์เพราะสิ่งนี้คือสัญลักษณ์ของพระผู้สร้างและการให้กำเนิด ในพิพิธภัณฑ์จึงมีงานศิลปะที่เป็นรูปองคชาตเยอะอยู่พอสมควร สามารถเดินดูได้เพลินๆ 

ออกมาจากพิพิธภัณฑ์ก็จวนจะได้เวลาเช็กเอาท์พอดี ฉันเปิดแผนที่ใน Google Map ซึ่งออฟไลน์อยู่เพราะยังไม่ได้ซื้อซิมอินโด คลำทางกลับโรงแรมไปเรื่อยๆ ระหว่างเดินก็คอยเอาชื่อถนน Jl. Diponegoro ที่จดไว้ในกระดาษยื่นให้คนแถวนั้นช่วยดู เพื่อเช็กว่าเรากำลังไปถูกทาง ดีจริงๆ ที่อินโดนีเซียใช้ตัวอักษรภาษาอังกฤษ ทำให้ฉันพอจะสื่อสารกับคนท้องถิ่นได้แบบงูๆ ปลาๆ คุยกันไม่รู้เรื่องแต่ถามชื่อถนน ชื่อสถานที่ได้ ก็รอดตายแล้วล่ะทริปนี้

ฉันกลับไปเอากระเป๋าที่โรงแรม เช็กเอาท์ และถามวิธีเดินทางแบบถูกที่สุดจากเดนปาซาร์ไปอูบุด (Ubud) พนักงานก็ช่างดีแสนดีอีกแล้ว อธิบายละเอียดมาก จดใส่กระดาษให้อีกต่างหาก ขั้นตอนการเดินทางคืออันดับแรกให้นั่งรถมินิบัสที่เรียกว่าเบโม (Bemo) ไปลงที่ Udayana University มหาวิทยาลัยแถวๆ เมืองกูต้า (Kuta) จากตรงนั้นจะมีรถโดยสารราคา 5,000 Rp. (ประมาณ 13 บาท) ไปถึงอูบุดได้ ราคาโคตรถูก แต่เสียเวลามากถึงมากที่สุด เพราะการนั่งรถไปกูต้าคือการนั่งย้อนไปอีกทางที่ตรงข้ามกับทางไปอูบุด

ถ้าตรงดิ่งจากจุดที่อยู่ตอนนี้ไปอูบุดเลย ระยะทางจะประมาณ 20 กิโลเมตร แต่ถ้านั่งย้อนไปย้อนมา รวมๆ แล้วจะต้องเดินทางมากกว่าเดิม 3 เท่า และจากประสบการณ์ที่ได้สัมผัสขนส่งมวลชนของอินโดนีเซียมาแล้วนั้น โอเคค่ะ...ถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า อย่าเอาตัวเองเข้าไปเสี่ยงอีกเลย ฉันเดินออกมาสำรวจรอบๆ โรงแรม ก็พบว่ามีแท็กซี่จอดอยู่ 3-4 คัน ราคาเหมาไปอูบุดอยู่ที่ 200,000 Rp. ฉันบ่นอุบอิบว่า “แพงจัง!” ตาลุงแท็กซี่สวนกลับมาว่า “อยากได้ถูกๆ ก็นั่งมอ’ไซค์ไปละกันอีหนู” พร้อมกับกวักมือเรียกพี่หนวดคนหนึ่งมาให้ พี่หนวดเรียกราคา 100,000 Rp. ฉันทำท่าขึงขังต่อจนเหลือ 70,000 Rp. (ประมาณ 182 บาท) พอเขาพยักหน้าตกลง ฉันก็กุลีกุจอสวมหมวกกันน็อกและกระโดดขึ้นซ้อนพร้อมเป้ใบยักษ์สองใบทันที 

ช่วงนี้ชี้แนะ

หลังจากตะลอนๆ อยู่ในอูบุดได้ 2-3 วัน ฉันก็ค้นพบว่าในบาหลีมีรถบัสชื่อ Kura-Kura (แปลว่าเต่าในภาษาอินโดนีเซีย) ซึ่งเน้นเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่น เป็นขนส่งมวลชนที่เวิร์กมาก เพราะบริหารงานโดยบริษัทของคนญี่ปุ่นที่เชื่อถือได้ ราคามาตรฐาน ไม่แพง ไม่โกง สะดวก ปลอดภัย มีป้ายรถครอบคลุมสถานที่ท่องเที่ยวหลายแห่งในบาหลี 

จากเดนปาซาร์ไปอูบุด ราคาอยู่ที่ 80,000 Rp. (ประมาณ 200 บาท) ขึ้นตรงสถานีรถบัส (Bus Bay) ที่ฉันถูกรุมทึ้งจนเผ่นแทบไม่ทันในวันแรกที่มาเหยียบบาหลี มีให้เลือก 4 รอบ คือ 10.00 / 12.00 / 15.00 / 17.00 


ดูข้อมูลแบบละเอียดได้ทางเว็บไซต์ http://kura2bus.com

ความคิดเห็น

  1. kura kura เป็นภาษาอินโดนีเซีย ที่แปลว่าเต่าค่า ไม่ใช่ภาษาญี่ปุ่น ^^

    ตอบลบ
    คำตอบ
    1. กรี๊ดดด ขอบคุณมากนะคะสำหรับข้อมูล เดี๋ยวรีบแก้ไขทันทีเลยค่า :D

      ลบ

แสดงความคิดเห็น

รูปภาพของฉัน
pOndjaa
ชื่อ ปอนด์ เกิดและเติบโตที่ชานเมืองกรุงเทพฯ หลงใหลการอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สนใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอิสระและรับสัมภาษณ์บุคคล สนุกกับการดูซีรี่ย์และทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ เมื่อมีเวลาว่าง ติดต่อ Line id : pond_jaa