แบกเป้บุกเดี่ยวอินโด : ตอนที่ 6 เดินเท้าลุยภูเขาไฟโบรโม่ ไม่ซื้อทัวร์ ไม่เช่ารถ ไม่ขี่ม้า

หลังจากดื่มด่ำกับความงดงามของภูเขาไฟโบรโม่และผองเพื่อนจากที่ไกลๆ แล้ว กิจกรรมต่อมาที่ไม่ควรพลาดคือการปีนป่ายขึ้นไปดูควันที่พวยพุ่งออกมาจากปากปล่องโบรโม่อย่างใกล้ชิด สำหรับคนที่เช่ารถจี๊ปไปจุดชมวิว พอถ่ายรูปพระอาทิตย์ขึ้นเรียบร้อย ราชรถจี๊ปก็จะพาไปส่งใกล้ๆ บันไดทางขึ้นเดินต่ออีกไม่ไกลมาก แต่ต้องจ่ายค่าเข้าอุทยานก่อน ราคาชาวต่างชาติ วันธรรมดา 217,500 รูเปียห์ (565 บาท) เสาร์-อาทิตย์ 320,000 รูเปียห์ (832 บาท) ถ้าซื้อทัวร์ส่วนใหญ่เขาจะรวมค่าเข้าไว้ในแพ็กเกจแล้วไม่ต้องจ่ายเพิ่ม



แต่เดี๋ยวก่อน...ถ้าไม่อยากเสียเงิน เราสามารถใช้ ‘ทางม้าเดิน’ ซึ่งอยู่ตรงโรงแรมเซมาราอินดะห์ (Cemara Indah Hotel) ได้ มันเป็นทางแคบๆ ลาดลงเนิน เดินได้ทีละคน ขุดไว้เพื่อให้ม้าเดินลงไปทำมาหากิน รับ-ส่งนักท่องเที่ยวที่ขี้เกียจเดินแถวๆ ตีนเขา หรือบางทีชาวบ้านที่ไปเก็บของป่าเขาก็ใช้ทางนี้สัญจรเหมือนกัน เวลาเจอม้าตามหลังมาก็ควรหลบให้ม้าไปก่อนเพื่อความปลอดภัย




ยังดีที่เมื่อวานฝนไม่ตกดินเลยไม่ค่อยเละมาก ดูจากสภาพดินแล้วถ้าเละต้องโคตรลื่นแน่นอน เราก็เดินลั้นลาไปเรื่อยเปื่อย สำรวจเส้นทางคร่าวๆ มาแล้วว่าการเดินไปที่ปากปล่องภูเขาไฟมันแสนจะง่ายดาย ทางเดินเป็นลานโล่งๆ มองเห็นโบรโม่อยู่ไกลๆ แค่เดินตรงดิ่งไปให้ถึงก็จบ ไม่ได้สำเนียกเลยว่าข้างหน้าจะมีความระทึกรออยู่



พอหลุดจากทางลาดมาได้ แทนที่จะมองเห็นโบรโม่เป็นเข็มทิศนำทางชีวิต ดันมีแต่หมอกๆๆ หนามากจนมองไม่เห็นทางข้างเลย ระยะที่พอจะมองเห็นคือไม่กี่เมตรตรงหน้าเท่านั้น และพอเดินผ่านมาแล้วหันหลังกลับไปดูด้านหลังก็เต็มไปด้วยหมอกเหมือนกัน เราพยายามปลอบใจตัวเองว่า มันโอเคนะเหมือนกำลังฝึกสมาธิ อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ท่านเดินสู่อิสรภาพ เราก็เดินสู่ ‘ความเวิ้งอันไกลโพ้น’ ไง ...ไม่ได้รู้สึกดีขึ้นสักนิด ทั้งกลัวหลง กลัวตาย ซิมอินโดนีเซียก็ไม่ได้ซื้อ มือถือไม่มีเน็ต ติดต่อสั่งเสียกับใครไม่ได้เลย 



แต่พอสังเกตดีๆ ก็พบว่าพื้นแถวนี้เป็นดินทรายสีเข้ม ซึ่งก็เป็นดินที่มาจากการปะทุของภูเขาไฟ รอยเท้าตามพื้นจึงชัดมาก เราเลือกเดินตามรอยที่ดูสดใหม่ไปเรื่อยๆ แต่ก็ไม่มั่นใจเลยว่ามันเป็นทางที่ถูกไหม ไม่รู้ด้วยว่าหมอกมันจะจางเมื่อไหร่ เสี่ยงดูละกันถ้าผิดทางอย่างมากก็แค่เสียเวลา เริงร่าในสายหมอกหนาทึบอยู่คนเดียวประมาณครึ่งชั่วโมง 



พอแดดออกหมอกจางก็เริ่มมองเห็นกองทัพรถจี๊ปอยู่ไกลๆ รีบวิ่งโผเข้าใส่ทันที โบรโม่จ๋าฉันมาแล้วจ้ะ อ้าว...ยังไม่ถึง ต้องเดินฝ่าฝุ่นไปอีกประมาณ 20 นาทีค่ะและไต่บันไดชันๆ อีก 250 ขั้น ข้อเข่าร้องไห้หนักมาก 






เท่าที่อ่านจากรีวิวและบล็อก คนเขาใช้ทางนี้กันเยอะนะ แต่ที่เราไม่เจอใครเลยคงเพราะอ้อยอิ่งอยู่บนจุดชมวิวนานไปหน่อย มัวแต่ใช้ชีวิตเนิบช้าค้นหาความหมายชีวิต จนกลุ่มอื่นเขาลงมาถึงหมู่บ้านและเดินไปปากปล่องกันหมดแล้ว เพราะคนส่วนใหญ่จะค้างคืนที่หมู่บ้านนี้แค่คืนเดียว เลยต้องรีบกลับหมู่บ้านไปขึ้นรถให้ทันรถเบโม ซึ่งจะออกจากหมู่บ้านประมาณ 9.00 - 9.30 น. ถ้าเกินจากเวลานี้ไปก็อาจต้องเหมาคันแพงกว่าปกติ ส่วนคนที่มากับทัวร์ คนขับรถก็มักจะคุมเวลาให้เที่ยวชมทุกอย่างให้เสร็จ ก่อนกลับไปกินมื้อเช้าที่โรงแรมไม่เกิน 8-9 โมง 


สิ่งสำคัญที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศเดินทางมาเยี่ยมเยือนภูเขาไฟโบรโม่ คือความสวยงามของควันที่พวยพุ่งออกมาจากปากปล่อง ซึ่งบ่งบอกว่าภูเขาไฟลูกนี้ยังมีชีวิตและอาจเกิดการปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ได้ ที่ผ่านๆ มาก็เคยมีข่าวนักท่องเที่ยวเสียชีวิตจากการเศษหินที่ปะทุออกมาอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความกระหายใคร่สัมผัสความสวยงามตรึงตาตรึงใจของผู้คนลดลงแม้แต่น้อย เห็นได้จากจำนวนผู้มาเยือนที่ล้นหลามทั้งชาวต่างชาติและชาวอินโดนีเซีย



ช่วงสายๆ หลังจากกองทัพนักท่องเที่ยวเริ่มซาแล้ว เราจะเห็นคนท้องถิ่นเดินทางมาสักการะ ‘ลมหายใจของเทพเจ้า’ กันอย่างคึกคัก คำว่า Bromo แปลว่า พรหม ผู้คนที่นี่มีความเชื่อว่าภูเขาไฟโบรโม่คือตัวแทนของพระพรหม เทพเจ้าองค์สำคัญประจำศาสนาฮินดูผู้สร้างทุกสรรพสิ่งบนโลก 'ชาวตังเกอร์' ชนกลุ่มน้อยของอินโดนีเซีย ซึ่งตั้งรกรากอยู่บริเวณรอบๆ ภูเขาไฟแห่งนี้ จึงประกอบพิธียาดยา คาซาด้า บูชาเทพเจ้าภูเขาไฟเป็นประจำทุกปี เพื่อแสดงความเคารพและขอพรให้เทพเจ้าช่วยปกปักคุ้มครอง โดยมอบพืชพรรณและสัตว์เลี้ยงเป็นเครื่องสังเวยตอบแทนเทพเจ้า

ปัจจุบันคนอินโดนีเซียที่นับถือศาสนาฮินดู ถือว่าเป็นประชากรส่วนน้อยมาก มีแค่ชาวชวาตะวันออกบางส่วนกับคนบนเกาะบาหลีเท่านั้น ส่วนที่เหลือประมาณ 85% นับถือศาสนาอิสลาม และประมาณ 12% นับถือศาสนาคริสต์ แต่ถึงแม้ผู้ที่นับถือศาสนาฮินดูจะมีจำนวนไม่มาก ก็ไม่ได้หมายความว่าความศรัทธาของพวกเขาจะน้อยลงตามไปด้วย ชาวฮินดูในอินโดนีเซียยังคงมีศรัทธาผูกพันกับศาสนาอย่างเหนียวแน่น และมีพิธีกรรมทางศาสนาแทรกซึมอยู่ในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องปกติ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศต้องการเดินทางมาสัมผัสวัฒนธรรมดั้งเดิมของชวาตะวันออกและบาหลีด้วยตัวเองสักครั้งในชีวิต

--
ราคาค่าเข้าอุทยานอ้างอิงจาก http://wikitravel.org/en/Bromo-Tengger-Semeru_National_Park

ความคิดเห็น

รูปภาพของฉัน
pOndjaa
ชื่อ ปอนด์ เกิดและเติบโตที่ชานเมืองกรุงเทพฯ หลงใหลการอ่านหนังสือ ชอบท่องเที่ยวแนวธรรมชาติ ประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม สนใจเรื่องอาหารการกินเป็นพิเศษ ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียนอิสระและรับสัมภาษณ์บุคคล สนุกกับการดูซีรี่ย์และทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ เมื่อมีเวลาว่าง ติดต่อ Line id : pond_jaa